x close

เผยชื่อ 10 บริษัท เก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงได้ ลั่นแอบอ้างเจอโทษหนัก


ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
          รมช.พาณิชย์ เผยชื่อ 10 บริษัท มีอำนาจจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงถูกกฎหมาย ลั่นใครแอบอ้างเจอโทษหนัก ทั้งจำและปรับ ส่วนพวกอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่เก็บค่าลิขสิทธิ์เกมต่างประเทศ อาจถูกดีเอสไอดำเนินคดีตามกฎหมายฟอกเงิน
 
          เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ของกรมการค้าภายใน (คน.) ได้เปิดโอกาสให้ผู้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงทุกรายแจ้งข้อมูลเพลงที่จะเก็บค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้ คน. ทราบภายในวันที่ 14 มีนาคม 2556 โดยพบว่า มีผู้แจ้งข้อมูลเพียง 10 ราย ที่สามารถเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงได้ จากเดิมที่มีขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา 31 ราย
 
สำหรับ 10 บริษัท ที่สามารถเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงได้ ประกอบด้วย

          1. บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
          2. บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด
          3. บริษัท อาร์เอ็มเอส พับลิชชิ่ง จำกัด
          4. บริษัท เอ็มพีซี มิวสิค จำกัด
          5. บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ เอส พี ซี จำกัด
          6. บริษัท พาร์ทเนอร์ สมาย จำกัด
          7. บริษัท ซี เอ็ม ซี เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด
          8. บริษัท วีพีพี เซ็นเตอร์ มิวสิค จำกัด
          9. บริษัท บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา จำกัด
          10. ห้างหุ้นส่วนจำกัด จัดเก็บลิขสิทธิ์สุรพล

 
          นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ถ้ามีบริษัทอื่นนอกเหนือจากนี้ไปเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้รีบแจ้ง คน. และกรมทรัพย์สินทางปัญญาทราบทันที เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยโทษของผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปเรียกเก็บลิขสิทธิ์ มีดังนี้
 
          ข้อหาแจ้งความเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         
 หากมีการควบคุมตัว จะมีโทษฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
         
 หากมีการเรียกเก็บเงิน จะมีโทษกรรโชกทรัพย์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
 
          นอกจากนี้ นายณัฐวุฒิ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการกับผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์เกมต่างประเทศ ที่มีพฤติกรรมข่มขู่ เรียกค่าเสียหายและค่ายอมความจากผู้ประกอบการร้านเกม โดยไม่มีเอกสารรับรองการมอบอำนาจอย่างถูกต้อง ซึ่งผู้กระทำการเช่นนี้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ และอาจเข้าข่ายขู่กรรโชกทรัพย์ ซึ่งมีความผิดกฎหมายอาญา ดังนั้นการส่งเรื่องให้ดีเอสไอ อาจนำไปสู่การดำเนินคดีตามกฎหมายคดีฟอกเงินได้

 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยชื่อ 10 บริษัท เก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงได้ ลั่นแอบอ้างเจอโทษหนัก อัปเดตล่าสุด 26 มีนาคม 2556 เวลา 14:28:18 2,367 อ่าน
TOP