ประวัติวง คาราบาว
วงคาราบาว ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2520 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดย 2 นักศึกษาที่รู้จักกันระหว่างไปศึกษาระดับปริญญาที่มหาวิทยาลัยมาปัว คือ แอ๊ด ยืนยง โอภากุล และ เขียว กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ซึ่ง แอ๊ด คาราบาว เป็นคนตั้งชื่อวง โดยคำว่า คาราบาว เป็นภาษาตากาล็อก ซึ่งแปลว่า ควาย สัตว์พื้นเมืองของฟิลิปปินส์ เนื่องจากควายเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการต่อสู้ การทำงานหนัก ความอดทน อีกทั้งยังเป็นตัวแทนผู้ใช้แรงงาน และถือได้ว่าผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ที่สร้างโลก ด้วยเหตุผลเหล่านี้ แอ๊ด คาราบาว จึงได้ใช้ชื่อวงว่า คาราบาว พร้อมกับใช้หัวควายมาเป็นสัญลักษณ์ของวง
หลังจากเรียนจบทั้งคู่ก็แยกย้ายกันไปทำงาน โดย เขียว คาราบาว ยังทำงานอยู่ที่ฟิลิปปินส์อีก 6 ปี ส่วน แอ๊ด คาราบาว กลับมาทำงานเป็นสถาปนิกที่การเคหะแห่งชาติ พร้อมกับตระเวนเล่นดนตรีกลางคืนไปด้วย และเมื่อทุกอย่างลงตัว แอ๊ด คาราบาว ก็ลาออกจากงานประจำ หันมาเล่นดนตรีอย่างเดียว พร้อมชวน เขียว คาราบาว ที่ตอนนั้นกลับมาทำงานในบริษัทฟิลิปปินส์ที่ตั้งสาขาในประเทศไทย เลยลาออกมาสร้างวง คาราบาว ด้วยกันอย่างเต็มตัว โดยสมาชิกวงคาราบาวในยุคคลาสสิกนั้นมีสมาชิกทั้งหมด 7 คน ประกอบไปด้วย แอ๊ด ยืนยง โอภากุล, เล็ก ปรีชา ชนะภัย, เทียรี่ สุทธิยงค์ เมฆวัฒนา, เขียว กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร, อ๊อด เกริกกำพล ประถมปัทมะ, เล็ก อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ เป้า อำนาจ ลูกจันทร์
วง คาราบาว กับเส้นทางดนตรี
อัลบั้มชุดที่ 1 ของวงคาราบาว เริ่มขึ้นเมื่อปี 2524 โดยใช้ชื่อชุดว่า "ขี้เมา" ซึ่งเพลง ลุงขี้เมา ถือได้ว่าเป็นเพลงเปิดตัวของวงคาราบาว และยังมีเพลงดังอย่างเพลง มนต์เพลงคาราบาว และ ถึกควายทุย
ปี 2525 อัลบั้มชุดที่ 2 "แป๊ะขายขวด" ได้เกิดขึ้นมา โดยได้ เล็ก ปรีชา ชนะภัย เข้ามาเป็นสมาชิกคนที่ 3 ของวง และเพลงที่โดดเด่นในยุคนี้ก็คือเพลง กัญชา ทำให้เพลงของคาราบาวมีเอกลักษณ์โดยสะท้อนภาพของสังคมไทยมากขึ้น โดย แอ๊ด คาราบาว ได้แต่งเพลงในสไตล์ที่เมืองไทยยังไม่มี ณ ขณะนั้น ในเพลงที่ชื่อว่า วณิพก โดยทำดนตรีจังหวะ 3 ช่า สนุกสนาน อีกทั้งเนื้อหายังโดนใจคนฟัง และคำว่า "วณิพก" ได้ถูกเอามาตั้งเป็นชื่ออัลบั้มชุดที่ 3 ของวง คาราบาว ในปี 2526 และอัลบั้มนี้เองทำให้วงคาราบาวเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงทั่วประเทศมากขึ้น และยังได้ รัช ไพรัช เพิ่มฉลาด มือเบส เข้ามาร่วมทำงานกับวง
หลังจากนั้น คาราบาว ก็ออกอัลบั้มชุดที่ 4 "ท.ทหารอดทน" แต่ถูก กบว. แบน เพราะมีเนื้อหาที่ไปพาดพิงเกี่ยวกับทหาร นอกจากนี้ยังมีเพลงที่สะท้อนชีวิตอย่างเพลง ตุ๊กตา, คนเก็บฟืน ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมาก และอัลบั้มชุดนี้ได้นักดนตรีอาชีพจากห้องอัดอโซน่าเข้ามาเป็นสมาชิกร่วมกับวงอย่างเต็มตัว คือ รี่ เทียรี่ เมฆวัฒนา ตำแหน่งกีตาร์, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ตำแหน่งเครื่องเป่า และ เป้า อำนาจ ลูกจันทร์ ตำแหน่งกลอง
ต่อมาในปี 2527 อัลบั้มชุดที่ 5 "เมดอินไทยแลนด์" เป็นอัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงให้กับวงคาราบาวเป็นอย่างมาก ด้วยเพลงที่มีชื่อเดียวกับชื่ออัลบั้ม เมดอินไทยแลนด์ เพลงที่มีเนื้อหาประจวบเหมาะกับการลดค่าเงินบาทของรัฐบาลในสมัยนั้น แล้วรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้สินค้าของไทย ทำให้อัลบั้ม เมดอินไทยแลนด์ เป็นอัลบั้มที่ยอดขายทะลุเป้ากว่า 5 ล้านตลับ จนวงคาราบาวเริ่มมีการทัวร์คอนเสิร์ตทั้งในประเทศและต่างประเทศ อัลบั้มนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงนักดนตรีของวง โดยได้ อ๊อด อนุพงษ์ ประถมปัทมะ มือเบส มาร่วมวง และมือเบสคนเดิมของวงอย่าง รัช ไพรัช เพิ่มฉลาด ได้ลาออกไป
หลังจากนั้นวงคาราบาวก็ยังคงมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2528 ออกอัลบั้มชุดที่ 6 "อเมริโกย", ปี 2529 อัลบั้มชุดที่ 7 "ประชาธิปไตย", ปี 2530 อัลบั้มชุดที่ 8 "เวลคัมทูไทยแลนด์" จนมาถึงปี 2531 อัลบั้มชุดที่ 9 "ทับหลัง" ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของการทำงานของสมาชิกวงคาราบาวทั้ง 7 คน กับหลายเหตุผลที่ทำให้สมาชิกวงไม่สามารถรวมตัวทำงานกันต่อไปได้ แต่ แอ๊ด คาราบาว หัวเรือใหญ่ของวง ได้ให้คำสัญญากับพี่น้องแฟนเพลงของวงคาราบาวในคอนเสิร์ตสุดท้ายที่เอ็มบีเค ฮอลล์ มาบุญครองเซ็นเตอร์ ว่าถึงจุดที่สมาชิกของวงคาราบาวต้องแยกย้ายกันออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ยังคงมีวงคาราบาวต่อไป
ปี 2533 คาราบาว เหลือสมาชิกในวงเพียง 4 คน คือ แอ๊ด, เขียว, เล็ก และอ๊อด แต่ได้ วงตาวัน เข้ามาเป็นวงแบ็กอัพให้ และปล่อยอัลบั้มชุดที่ 10 "ห้ามจอดควาย" หลังจากปล่อยอัลบั้มชุดที่ 10 สมาชิกของวงอีก 3 คนที่เหลืออย่าง รี่ เทียรี่ เมฆวัฒนา, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ เป้า อำนาจ ลูกจันทร์ ต่างก็เริ่มไปทำงานเดี่ยวของตัวเอง นอกจากนั้น แอ๊ด ยืนยง โอภากุล, เล็ก ปรีชา ชนะภัย และ เขียว กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ก็ทยอยไปทำงานเดี่ยวของตัวเองเช่นกัน
ปี 2534 คาราบาว ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 11 "วิชาแพะ" โดยมีสมาชิกวงเพียง 3 คน คือ แอ๊ด, เล็ก และอ๊อด แต่ก็ยังคงปล่อยอัลบั้มออกมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2535 อัลบั้มชุดที่ 12 "สัจจะ 10 ประการ", ปี 2536 เป็นอัลบั้มชุดที่ 13 "ช้างไห้" โดยเหลือสมาชิกวงเพียง 2 คนเท่านั้น คือ แอ๊ด กับ อ๊อด พร้อมกับนักดนตรีแบ็กอัพชุดเดิม, ปี 2537 อัลบั้มชุดที่ 14 "คนสร้างชาติ", ปี 2538 อัลบั้มชุดที่ "15 แจกกล้วย"
และไม่กี่เดือนผ่านมา ปี 2538 สิ่งที่แฟนเพลงคาราบาวรอคอยก็มาถึง สมาชิกวงคาราบาวทั้ง 7 คน กลับมารวมตัวกันเฉพาะกิจในวาระครบรอบ 15 ปี คาราบาว และได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานอัลบั้มชุดที่ 16 "หากหัวใจยังรักควาย", ปี 2540 อัลบั้มชุดที่ 17 "เส้นทางสายปลาแดก", ปี 2540 อัลบั้มชุดที่ 18 "เช ยังไม่ตาย", ปี 2541 อัลบั้มชุดที่ 19 "อเมริกันอันธพาล" ซึ่งเป็นอัลบั้มที่เป็นการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของ เล็ก ปรีชา ชนะภัย, รี่ เทียรี่ เมฆวัฒนา และ เขียว กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร
ต่อมาในปี 2541 วงคาราบาว ก็ปล่อยอัลบั้มชุดที่ 20 "พออยู่พอกิน", ปี 2543 อัลบั้มชุดที่ 21 "เซียมหล่อตือ", ปี 2544 อัลบั้มชุดที่ 22 "สาวเบียร์ช้าง", ปี 2545 อัลบั้มชุดที่ 23 "นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่", ปี 2546 คาราบาวไม่มีผลงานเพลงชุดใหม่ในปีนี้ แต่ได้นำอัลบั้มที่เป็นประวัติศาสตร์ของวงมาบันทึกเสียงใหม่ทั้งหมด โดยใช้ชื่ออัลบั้มนี้ว่า "เมดอินไทยแลนด์ ภาค 2546 สังคายนา", ปี 2548 อัลบั้มชุดที่ 24 "สามัคคีประเทศไทย"
นอกจากนี้ คาราบาว ยังมีผลงานอัลบั้มอื่น ๆ ที่ออกมาคาบเกี่ยวระหว่าง 24 อัลบั้มนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้มพิเศษในวาระต่าง ๆ, อัลบั้มบันทึกการแสดงสดคาราบาว หรืออัลบั้มเดี่ยวของศิลปินคาราบาว เป็นต้น กล่าวได้ว่า คาราบาว เป็นวงดนตรีวงแรกและวงเดียวในประเทศไทยที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่องและยาวนานที่สุด และยังได้สร้างสรรค์บทเพลงที่มีคุณูประการกับสังคมไทยมามากมายหลายยุคหลายสมัย แต่ละบทเพลงล้วนแล้วแต่มีความหมายที่ดี และสามารถนำไปเป็นข้อคิดในการดำรงชีวิตได้
สมาชิกวง คาราบาว
สมาชิกวงยุคปัจจุบัน
- แอ๊ด ยืนยง โอภากุล ตำแหน่ง กีตาร์, ร้องนำ, หัวหน้าวง
- เล็ก ปรีชา ชนะภัย ตำแหน่ง กีตาร์, ร้องนำ
- เทียรี่ สุทธิยงค์ เมฆวัฒนา ตำแหน่ง กีตาร์, ร้องนำ
- อ๊อด เกริกกำพล ประถมปัทมะ ตำแหน่ง เบส
- ดุก ลือชัย งามสม ตำแหน่ง คีย์บอร์ด, แอคคอร์เดียน, ทรัมเป็ต
- หมี ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ ตำแหน่ง กีตาร์
- โก้ ชูชาติ หนูด้วง ตำแหน่ง กลองมือ 1
- อ้วน เทพผจญ พันธุ์พงษ์ไทย ตำแหน่ง กลองมือ 2, ขลุ่ย, แซกโซโฟน, คีย์บอร์ด
อดีตสมาชิกวง คาราบาว
- เขียว กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ตำแหน่ง คียบอร์ด, เพอร์คัสชั่น, กีตาร์
- เล็ก อ.ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี ตำแหน่ง คียบอร์ด, เครื่องเป่า
- เป้า อำนาจ ลูกจันทร์ ตำแหน่ง กลอง (เสียชีวิต)
- รัช ไพรัช เพิ่มฉลาด ตำแหน่ง เบส (เสียชีวิต)
- น้อง ศยาพร สิงห์ทอง ตำแหน่ง เพอร์คัสชั่น (เสียชีวิต)
ผลงานเพลงวง คาราบาว
- อัลบั้มชุดที่ 1 ขี้เมา (2524)
- อัลบั้มชุดที่ 2 แป๊ะขายขวด (2525)
- อัลบั้มชุดที่ 3 วณิพก (2526)
- อัลบั้มชุดที่ 4 ท.ทหารอดทน (2526)
- อัลบั้มชุดที่ 5 เมดอินไทยแลนด์ (2527)
- อัลบั้มชุดที่ 6 อเมริโกย (2528)
- อัลบั้มชุดที่ 7 ประชาธิปไตย (2529)
- อัลบั้มชุดที่ 8 เวลคัมทูไทยแลนด์ (2530)
- อัลบั้มชุดที่ 9 ทับหลัง (2531)
- อัลบั้มชุดที่ 10 ห้ามจอดควาย (2533)
- อัลบั้มชุดที่ 11 วิชาแพะ (2534)
- อัลบั้มชุดที่ 12 สัจจะ 10 ประการ (2535)
- อัลบั้มชุดที่ 13 ช้างไห้ (2536)
- อัลบั้มชุดที่ 14 คนสร้างชาติ (2537)
- อัลบั้มชุดที่ 15 แจกกล้วย (2538)
- อัลบั้มชุดที่ 16 หากหัวใจยังรักควาย (2538)
- อัลบั้มชุดที่ 17 เส้นทางสายปลาแดก (2540)
- อัลบั้มชุดที่ 18 เช ยังไม่ตาย (2540)
- อัลบั้มชุดที่ 19 อเมริกันอันธพาล (2541)
- อัลบั้มชุดที่ 20 พออยู่พอกิน (2541)
- อัลบั้มชุดที่ 21 เซียมหล่อตือ (2543)
- อัลบั้มชุดที่ 22 สาวเบียร์ช้าง (2544)
- อัลบั้มชุดที่ 23 นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ (2545)
- อัลบั้มพิเศษ เมดอินไทยแลนด์ ภาค 2546 สังคายนา (2546)
- อัลบั้มชุดที่ 24 สามัคคีประเทศไทย (2548)
- อัลบั้มชุดที่ 25 ลูกลุงขี้เมา (2550)
- อัลบั้มชุดที่ 26 โฮะ (2552)
- อัลบั้มชุดที่ 27 กำลังคาราบาว 30 ปี (2554)
- อัลบั้มชุดที่ 28 สวัสดีประเทศไทย (2556)
โซเชียลมีเดียวง คาราบาว
- Instagram : carabaoofficial
- Facebook : Carabao Official
- X (Twitter) : CarabaoOfficial
- YouTube : Carabao Official