เปิดที่มา "หมูแข้งทอง" เพลงแรปเพลงแรกของไทย พร้อมสัมภาษณ์สุด Exclusive เจ้าของเพลงตัวจริง

          "หมูแข้งทอง" เพลงแรปเพลงแรกของไทยที่หลายคนอาจไม่เคยรู้หรือเคยได้ยินมาก่อน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าของบทเพลงตัวจริงเสียงจริง ปรัชญา ศรีธัญรัตน์ หรือ Mr.แตงโม ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน พร้อมสัมภาษณ์สุด Exclusive ถึงที่มาที่ไปของบทเพลงนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี

แตงโม ปรัชญา ศรีธัญรัตน์
แตงโม-ปรัชญา ศรีธัญรัตน์

          พูดถึงเพลงแรปใน พ.ศ. นี้ แน่นอนว่าไม่มีใครไม่รู้จัก เนื่องจากเป็นแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ยุค 90s  ไล่มาตั้งแต่วง TKO วงดนตรีที่ว่ากันว่าเป็นวงแรปแท้ ๆ วงแรกของประเทศไทย หรือศิลปินเดี่ยวอย่าง ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง และ เจ เจตริน กับจังหวะ ป๊อปแดนซ์ ผสม ป๊อปแรป ก่อนจะมาเปิดศักราชแรปอย่างจริงจังไปกับ โจอี้ บอย เจ้าพ่อเพลงแรปตัวจริง ไล่เรียงเรื่อยมาจนมาถึง ไทยเทเนี่ยม, กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่, ทูพี เซาท์ไซด์, ปู่จ๋าน ลองไมค์, ยัวร์บอยทีเจ ฯลฯ

          ว่าแต่เห็นพวกเราร้องแรปโย่ แรปโย่ กันอยู่นี้ เคยสงสัยกันไหมว่าเพลงที่ถือได้ว่าเป็นเพลงแรปเพลงแรกของประเทศไทยนั้น คือเพลงอะไร ?

          วาร์ปกลับไปเมื่อปี 2528 ชายไทยผู้หนึ่งนามว่า "ปรัชญา ศรีธัญรัตน์" หรือชื่อเล่น "แตงโม" ได้แต่งเนื้อร้องแรปขึ้นมา นั่นคือเพลง "หมูแข้งทอง" โดยใช้ชื่อบนปกเทปว่า Mr.แตงโม ที่ผ่านมานั้น ไม่มีใครรู้เลยว่า Mr.แตงโม คือใคร และมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมอยู่ ๆ ถึงมาออกเทปได้ และนี่คือการเปิดเผยที่มาของเพลง "หมูแข้งทอง" จากปากของผู้เขียนเนื้อร้อง และเจ้าของเสียงตัวจริงเสียงจริง ในวัย 66 ปี กับทีมงาน Kapook.com เป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี

          ในปี 2528 ต่อเนื่องปี 2529 เป็นปีที่ครบรอบ 300 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย กับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้น พี่แตงโม เป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสพอดี จึงคุยกันในหมู่เพื่อนนักเรียนว่า น่าจะทำอะไรกันสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้ จนได้ข้อสรุปที่การแต่งเพลงให้กับ หมู-ผุดผาดน้อย วรวุฒิ (อดีตนักมวยไทยชื่อดัง เจ้าของแชมป์ 3 รุ่น ของสนามมวยเวทีลุมพินี) ที่ก่อนหน้านี้ได้เดินทางมาเป็นครูสอนมวยไทยให้กับฝรั่งยังกรุงปารีส เมื่อปี 2526 โดยถือเป็นครูสอนมวยไทยคนแรกบนแผ่นดินยุโรป และเป็นผู้ที่ทำให้คำว่า "มวยไทย" เป็นที่รู้จักไปทั่วยุโรป

ผุดผาดน้อย วรวุฒิ
ขอบคุณภาพจากนิตยสาร จักรวาลมวย

  • หยิบเอาเรื่องราวชีวิตของยอดมวยไทย ผุดผาดน้อย วรวุฒิ มาแต่งเป็นเพลงแรป

          ผุดผาดน้อย โดดเด่นมากในเรื่องของการเตะ จึงได้ฉายาว่า "หมูแข้งทอง" โดยตอนนั้นฝรั่งเจ้าของยิม มาปรึกษาผุดผาดน้อย จะขึ้นป้ายด้านหน้ายิมว่า "Thai Boxing" แต่ผุดผาดน้อยค้านหัวชนฝา และยืนยันให้ใช้ทับศัพท์ชื่อว่า "MuayThai" เท่านั้น ยิมนี้จึงมีชื่อว่า "France Muay Thai" ซึ่งนี่ถือเป็นจุดสำคัญ ที่ทำให้คำว่า "มวยไทย" เป็นคำที่ชาวต่างชาติใช้เรียกการแข่งขันกีฬาประเภทนี้ และในเพลงนี้ นอกจากจะมีท่อนร้องแล้ว ก็ยังมีท่อนพูดด้วย โดยเสียงที่ได้ยินนั้น คือเสียงของผุดผาดน้อยจริง ๆ และถ้าสังเกตให้ดี จะได้ยินเสียงตอนซ้อมมวย ไม่ว่าจะเป็นเสียงกระโดดเชือก เตะกระสอบทราย ฯลฯ ซึ่งก็เป็นเสียงที่เก็บมาจากยิม ตอนผุดผาดน้อยสอนมวยไทยให้ฝรั่งจริง ๆ อีกด้วย

หมูแข้งทอง

  • หมูแข้งทอง เพลงแรปเพลงแรกของไทย บันทึกเสียงที่ประเทศฝรั่งเศส

          อัลบั้มชุดนี้ มีชื่อว่า "My Lover" มีทั้งหมด 10 เพลง โดยพี่แตงโมใช้เวลาในการแต่งเนื้อร้องทั้งหมด 11 เดือน โดยมีเพื่อนชาวฝรั่งเศสชื่อ Phillip Lemonge (ฟิลิปส์ เลอมงด์) มาช่วยทำทำนองและดนตรีให้ทั้งหมด โดยในตอนนั้นดนตรีแนว RAP - ELECTRONIC - FUNKY - NEW MUSIC กำลังได้รับความนิยมอย่างมากที่ฝรั่งเศส ซึ่งฟิลิปส์ก็เป็นนักดนตรี และมีสตูดิโออยู่แล้ว การทำงานทุกอย่างจึงเกิดขึ้นที่นั่น และเพลง "หมูแข้งทอง" ก็เป็นเพลงแรกที่พี่แตงโมแต่ง เมื่อออกมา จึงมีลักษณะเป็นเพลงแรป และได้รับการยกย่องว่าเป็น "เพลงแรปเพลงแรกของประเทศไทย" ในที่สุด

หมูแข้งทอง

  • หนึ่งในผู้ที่ร้องประสานเสียงเพลงนี้ คือ ทอม ดันดี

          มีเกร็ดที่น่าสนใจในระหว่างขั้นตอนการบันทึกเสียง ที่พี่แตงโมเล่าให้ฟังว่า "ตอนนั้นพี่เป็นนักร้องนำของวงดนตรีนักเรียนไทยที่นี่ ชื่อวงคลื่นลูกใหม่ ก็เลยชวนเพื่อนในวง มาช่วยร้องประสานเสียงให้ด้วย ก็มีสมาชิกของวงที่น่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่ 2 คน คือ พันทิวา ภูมิประเทศ หรือ ทอม ดันดี ที่ตอนนั้นยังไม่ได้มาเป็นนักร้องนำวงซูซู และ กษิติ กมลนาวิน อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง 5 และแฟนพันธุ์แท้ประเทศฝรั่งเศส

ทอม ดันดี
ภาพการแสดงดนตรีของวงคลื่นลูกใหม่ ณ เมืองเบรซ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2529
ทอม ดันดี คือคนโพกผ้าสีเขียว/กษิติ ที่ 2 จากซ้าย


          เมื่อเพลงชุดนี้ทำเสร็จสมบูรณ์แล้ว พี่แตงโม และฟิลิปส์ ก็ได้เดินทางมายังประเทศไทย โดยมีพี่วินัย พันธุรักษ์ แห่งวง ดิอิมพอสซิเบิ้ล พาไปหาค่ายเทป โดยค่ายแรกที่ไปหาเลยก็คือแกรมมี่ "พี่ได้คุยกับ อากู๋ คุณไพบูลย์ ชัยดำรงธรรม แกชอบและสนใจเพลงของพี่มาก แต่ติดตรงเงื่อนไขของพี่ ที่ตั้งใจว่าต้องใช้นักดนตรีนำเข้าจากฝรั่งเศสทั้งหมด ซึ่งในยุคนั้นยังไม่เคยมีใครทำ และอากู๋ไม่เห็นด้วย เทปชุดนี้กับแกรมมี่จึงต้องพับโครงการไป"

          ต่อจากแกรมมี่ พี่วินัยก็พาไปพบกับคุณวิเชียร อัศว์ศิวะกุล แห่ง นิธิทัศน์ โปรโมชั่น ซึ่งในช่วงเวลานั้น นิธิทัศน์เริ่มหันมาเน้นแนวเพลงลูกทุ่ง จึงยังไม่มีนโยบาย ทำเพลง ไทย-สากล ชัดเจนมากนัก หลังจากนั้น พี่แตงโมก็ได้รู้จักกับพี่ภูสมิง หน่อสวรรค์ พี่ภูสมิง จึงพาไปค่าย รถไฟดนตรี และเมื่อคุณระย้า ผู้บริหาร ได้ฟังเพลงทั้งหมดแล้ว ก็ยังงง ๆ อยู่ ว่าแนวเพลง "แรป" และ "อิเล็กทรอนิกส์ฟังกี้" คืออะไร การได้ออกเทปกับค่ายรถไฟดนตรี จึงไม่สำเร็จอีกเช่นกัน

แตงโม ปรัชญา ศรีธัญรัตน์

  • จากแกรมมี่ ไปนิธิทัศน์ มารถไฟดนตรี สู่ EMI จึงได้เซ็นสัญญา

          พี่แตงโมยังไม่ละความพยายาม ภายหลังก็ได้รับการแนะนำจากพี่ปุ้ย-อนุสรณ์ คำเกษม มือกลองของวงชาตรี ว่าให้ลองไปเสนอกับบริษัท EMI ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเมื่อผู้บริหาร EMI ได้ฟังแล้วก็สนใจมาก จึงเกิดการเซ็นสัญญาร่วมงานกัน พร้อมทั้งจัดงานแถลงข่าวขึ้นที่ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี ในปี 2530 โดยมีพี่วิโรจน์ ควันธรรม เป็นพิธีกรในงานวันนั้น

แตงโม ปรัชญา ศรีธัญรัตน์

          แต่น่าเสียดาย ที่หลังจากเซ็นสัญญากับ EMI แล้ว ทางพี่แตงโม และฟิลิปส์ มีความจำเป็นต้องเดินทางกลับไปปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทันที จึงเกิดเป็นความห่างเหิน อุปสรรค และช่องว่างของระยะทาง ในการจะโปรโมตอัลบั้มนี้อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เทปชุดนี้ ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

  • ฟังเพลง หมูแข้งทอง ครั้งแรกในประเทศไทยได้ในวันที่ 7-8 ธันวาคม 2562 ที่สวนหลวง ร.9

          สำหรับปีนี้ ครบรอบ 333 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ทางสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส จึงได้จัดงานใหญ่ขึ้นอีกครั้งในวันที่ 7-8 ธันวาคม 2562 ที่สวนหลวง ร.9 ซึ่งในงานก็จะมีการออกร้านโดยนักเรียนเก่า รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมของไทยและฝรั่งเศส และอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญในงานนี้ คือจะมีการร้องเพลง "หมูแข้งทอง" ขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย

แตงโม ปรัชญา ศรีธัญรัตน์

          เป็นเวลาถึง 34 ปีทีเดียว ที่ตำนานยังมีลมหายใจอย่าง พี่แตงโม-ปรัชญา ศรีธัญรัตน์ (ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมรถจักรยานยนต์สยาม และดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมอาวุโส) ไม่เคยให้สัมภาษณ์ และไม่เคยเปิดเผยเรื่องราวนี้มาก่อน ว่าเขาคือผู้แต่งเพลง "หมูแข้งทอง" เพลงแรปเพลงแรกของไทย สำหรับใครที่ยังไม่เคยฟังเพลงนี้ เตรียมหัวใจ ไหล่ เอวให้พร้อม แล้วมาโย่ไปพร้อม ๆ กันได้เลย


เพลง "หมูแข้งทอง" เพลงแรปเพลงแรกของไทย


ช่วงตอบคำถามเพลงแรปเพลงแรกของประเทศไทย (นาทีที่ 58)

แตงโม ปรัชญา ศรีธัญรัตน์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดที่มา "หมูแข้งทอง" เพลงแรปเพลงแรกของไทย พร้อมสัมภาษณ์สุด Exclusive เจ้าของเพลงตัวจริง อัปเดตล่าสุด 9 ตุลาคม 2562 เวลา 18:55:00 11,993 อ่าน
TOP
x close