x close

ธีร์ ไชยเดช กับเส้นทางชีวิตที่เรียบง่าย แต่สุขใจ

 ธีร์ ไชยเดช

 ธีร์ ไชยเดช
 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ฅ.คน , ทีวีบูรพา

           สำหรับแฟนเพลงรุ่นเก่าที่ชื่นชอบเสียงร้องทุ้มต่ำ บวกกับสไตล์ดนตรีที่มีการเล่นกีตาร์โปร่งแบบเท่ ๆ  คงจะจำ ธีร์ ไชยเดช หรือ โอ๋ อดีตศิลปินมากฝีมือในสังกัด เบเกอรี่มิวสิค คนนี้ได้เป็นอย่างดี และถึงแม้เขาจะห่างหายจากวงการเพลงไปนานเกือบ 10 ปี แต่เมื่อปี 2555 ธีร์ ไชยเดช ได้กลับมาอีกครั้ง พร้อมอัลบั้มที่มีชื่อว่า Recoloured ภายใต้สังกัด Sony Music โดยเป็นการนำเพลงเก่าของเขามาเรียบเรียงและร้องใหม่ เช่น ฝันไป, ขอแค่ใจเราเหมือนเดิม และไม่จากใจ โดยในเวอร์ชั่นนี้จะมีความสดใสมากกว่าต้นฉบับเดิมที่ค่อนข้างหม่นเศร้า และเพื่อให้รู้จักกับตัวตนของศิลปินคนนี้มากขึ้น เราจึงนำบทสัมภาษณ์ ธีร์ ไชยเดช จาก นิตยสาร ฅ.คน มาฝากค่ะ
 
           ธีร์ ไชยเดช ได้เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของเขา ย้อนไปตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ว่า "ผมเกิดในกำปง สมัยนั้นกำปงไม่เหมือนหมู่บ้าน ปัจจุบัน กำปงเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เป็นชุมชนมุสลิม เกิดและเติบโตที่นั่น วิ่งเล่นกันอยู่ในนั้น มีสนามเด็กเล่นที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตที่ผมเคยมีมา ใหญ่เกือบ ๆ เท่าสนามฟุตบอล เป็นสถานที่ให้เราวิ่งเล่นกัน แต่จริง ๆ แล้วเป็นป่าช้า อยู่ตรงซอยเจริญกรุง 40 ตรงนั้นมีแม่น้ำด้วย คือ พอเตะบอลกันเสร็จ ก็จะเล่นน้ำกันต่อ เกาะเรือเล่นกันอย่างสนุกสนาน แต่ก็ต้องหนีพ่อหนีแม่ทำ เพราะเขาไม่อยากให้เราทำอย่างนั้นสักเท่าไหร่"
 
           ซึ่งการที่เขาใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าช้าตั้งแต่เด็ก ทำให้เขามีประสบการณ์ชีวิตแตกต่างจากเด็กทั่วไป โดยต้องช่วยขุดหลุมฝังศพตั้งแต่อายุ 12 ปี  ทำให้เติบโตมาอย่างเข้าใจถึงสัจธรรมการเกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมถึงวาระสุดท้ายที่มนุษย์เลี่ยงไม่พ้น
 
           ธีร์ ไชยเดช เล่าต่อว่า เขาเป็นลูกคนสุดท้องจากครอบครัวที่มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน แต่ไม่ค่อยมีกิจกรรมตามวัยร่วมกับพี่ชายเท่าใดนัก เพราะพี่ชายทั้ง 2 คน ถูกส่งไปอเมริกาตั้งแต่เขายังเด็ก ในช่วงเวลานั้นจึงมีเพียงพี่สาวที่คอยเป็นเพื่อนเล่น จากนั้นเมื่อโตมาเขาก็เรียนสายอาชีพ และเลือกที่จะเล่นดนตรี
 

           แม้เขาจะไม่เคยเรียนมาก่อน แต่อาศัยการฟัง และศึกษาเองจากหนังสือดนตรีที่พี่ชายส่งมาให้จากเมืองนอก จนวันหนึ่ง เมื่อเขากับเพื่อนไปเที่ยวที่ร้าน ACE แถวซอยอโศก ซึ่งเป็นผับเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เพื่อนคนนั้นได้ขอให้เขาแสดงฝีมือบนเวที เพื่อเป็นของขวัญวันเกิด เขาจึงขออนุญาตทางร้าน ก่อนเล่นเพลง Can fly my way home ของ ศิลปิน Blind Faith จนลีลาการเล่นกีตาร์และน้ำเสียงของเขา ไปเข้าตาเจ้าของร้านที่เป็นคนมาเลเซีย กระทั่งได้รับการชักชวนให้มาทำงานที่ร้านดังกล่าว เมื่อปี 2520
 
           จากนั้นเขาก็ทำงานที่นั่นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อบังเอิญได้ยินพ่อแม่คุยกัน คล้ายตัดพ้อว่า อยากให้มีลูกสักคนจบปริญญา เพราะเป็นห่วงลูกที่อนาคตไม่มั่นคง เพราะแต่ละคนก็หันไปทำงานสายอาชีพกันหมด เขาจึงเริ่มลังเล และคิดที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อพ่อแม่ แม้การทำงานในเส้นทางสายดนตรี จะเป็นงานที่เขารักมากก็ตาม กระทั่งเพื่อนสมัยเด็กเอ่ยปากชวนไปเรียนอินเดียด้วยกัน เขาจึงตัดสินใจไป

 ธีร์ ไชยเดช
 
           "จุดเริ่มต้นที่ตัดสินใจไปอินเดียเพราะว่า พ่อแม่ค่อนข้างคาดหวังตามประสาคนสมัยก่อนว่า อยากมีลูกสักคนจบปริญญา ซึ่งเขาผิดหวังกับพี่สาวมาแล้วคนหนึ่ง คือ พี่สาวเป็นคนเรียนเก่งมาก แต่พอเรียนจบเขาเลือกไปเรียนในสายอาชีพ ทั้ง ๆ ที่สอบชิงทุนเข้ามหาวิทยาลัยได้ ตอนเรียน ๆ อยู่ เขาไปสมัครเป็นแอร์ฯ ปริญญาก็ไม่ได้แล้ว ทีนี้ก็เหลือผมคนเดียว แต่พ่อแม่ก็ไม่เคยขออะไร"  

 
           แต่ในที่สุด เพื่อให้พ่อแม่สมหวังดังใจ ธีร์ จึงตัดสินใจทิ้งบ้านและการเล่นดนตรีกลางคืนไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย โดยบอกพ่อแม่แค่ว่า "เบื่อ ๆ อยากไปเรียนเท่านั้น" จนครบสี่ปีแห่งความพยายาม และสิ้นสุดความลับ...เขากลับมากราบเท้าพ่อกับแม่พร้อมใบปริญญานำความภาคภูมิใจมาสู่ครอบครัวทั้ง ๆ ที่ทุกคนเคยหมดหวังไปแล้ว
 
           "จริง ๆ การเรียนเป็นช่องทางที่พ่อแม่ชี้โพรงให้ผมมีทุกวันนี้ได้ ไม่อย่างนั้นป่านนี้ ก็คงยืนพิงแอมป์เล่นกีตาร์อยู่ตามคาเฟ่สักแห่ง วันไหนตกบันได ขาหัก แขนหัก ก็อาจไม่มีกิน... ผมได้ประสบการณ์มหาศาลเลยตอนไปอินเดีย ที่เป็นโอ๋ทุกวันนี้ เป็นธีร์ทุกวันนี้ ครึ่งหนึ่งของชีวิต มาจากประสบการณ์ในช่วงนั้น ซึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้กับคุณพ่อ คุณแม่ด้วย ที่เป็นคนให้โอกาส"

           หลังนั้นไม่นาน เขาก็เข้าทำงานประจำที่บริษัทวิทยุการบินฯ ในตำแหน่งควบคุมการจราจรทางอากาศ โดยการสื่อสารกับนักบินทุกลำที่กำลังบินอยู่ เพื่อไม่ให้เครื่องบินหลายสิบลำบินชนกัน และทำงานนั้นมาเป็นเวลากว่า 28 ปี ซึ่งระหว่างนั้น ในช่วงว่างจากการทำงานประจำ เขาก็ยังทุ่มเทให้กับงานดนตรีเหมือนเช่นเคย
 

           แม้ในตอนแรก พื้นฐานภาษาอังกฤษไม่ค่อยดี แต่เขาจึงพยายามฝึกพูด และร้องเพลงฝรั่งบ่อย ๆ เพลงไหนร้องไม่ได้ ก็จะหาเนื้อเพลง หาเทปมาฟัง และฝึกจนคล่อง จากนั้นโอกาสทางดนตรีก็เริ่มเข้ามา นั่นอาจเป็นเพราะเสียงและลักษณะการเล่นกีตาร์ที่เป็นเอกลักษณ์จึงทำให้มีคนพยายามที่จะผลักดัน แต่เขาก็พบเจอกับอุปสรรคอยู่บ่อยครั้ง
 
           "เคยเซ็นสัญญากับบริษัทฝรั่ง ท่าทางไปได้ดีมาก ประโคมข่าวกันสุดฤทธิ์แต่ก็พัง เพราะทุกอันที่ทำติดอยู่แค่กระบวนการเดียวคือ เราไม่เป็นแนวขาย... โอเค ก็ไม่เป็นไร เพราะมีงานวิทยุการบินเป็นงานหลัก อันนี้เป็นงานรอง แต่ก็รู้สึกเสียใจกับทุกครั้งที่ต้องผิดหวัง ถึงขั้นคิดเลิกดนตรีเลยก็มี"
 
           ทั้งนี้ เมื่อไม่มีอะไรจะเสีย เขาจึงตัดสินใจนำผลงานของตัวเองไปให้น้องที่รู้จักกันฟัง ซึ่งรุ่นน้องคนนั้นกำลังทำค่ายเพลง เบเกอรี่มิวสิค จนทำให้เส้นทางดนตรีของเขาชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม วงการดนตรีในยุคปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก โดย ธีร์ ไชยเดช กล่าวว่า "สมัยก่อนต้องเรียนรู้เอง จากเทป เวลาเทปขาดนี่ร้องไห้เลยนะ แต่ยุคสมัยนี้สะดวกสบายขึ้น มีโรงเรียน 24 ชั่วโมง อยากได้อะไร มีให้ทุกอย่าง โรงเรียนนี้คือ โซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งโชคร้ายก็คือ ใคร ๆ ก็ไปเรียน ผู้ร่วมแข่งขันเยอะ เปอร์เซ็นต์จะประสบความสำเร็จมันก็น้อย"
 

           ถึงอย่างนั้นเขายังโชคดีที่มีค่าย มีสังกัด ทำให้มีทีมงานคอยสนับสนุน แต่ค่ายเพลงเองก็ต้องทำยอดขายด้วย เพราะถ้าไม่มีเงิน ค่ายก็อยู่ไม่ได้ ศิลปินใหม่ก็ไม่มีวันเติบโต ซึ่งถ้าจะโชคดีก็ต้องมีคนให้การสนับสนุน หรือต้องเป็นคนเก่งจริง ๆ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังทำในสิ่งที่ตัวเองรักต่อไป
 
           "อย่างผมตั้งแต่อยู่วงการนี้มา ไม่เคยเสียความยืดมั่นและศรัทธาที่ตัวเองมีอยู่ ไม่เคยเลย ผมยืดมั่นศรัทธาในพ่อแม่และศาสนา ได้การเรียนรู้ ได้ชื่อเสียงเงินทองมากบ้างน้อยบ้างตามกาลเวลา มีมาก็ใช้ไปตามระบบที่ดีและถูกต้องของสังคมแค่นั้นเอง"

 ธีร์ ไชยเดช
 
           เมื่อถามถึงผลงานเพลงของเขา ธีร์ ไชยเดช  ก็เล่าให้ฟังว่า อัลบั้มชุดที่แล้วออกมาเมื่อปี 2545 จนตอนนี้ปี 2556 ซึ่งเขาไม่ได้อยากทิ้งช่วงนานขนาดนี้ แต่เพราะมีเรื่องให้ทำหลายอย่าง เขาจึงต้องพักเรื่องของงานเพลงไป เช่นเดียวกับ ธุรกิจร้านกาแฟ "Café Somebody" ที่กำลังมีบทบาทในชีวิตของเขา โดยเจ้าตัวถึงกับเปรยว่า มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด
 
           "ถ้าย้อนกลับไปได้ไม่มีวันทำ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจนะ เพียงแต่รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่า เราศึกษามาน้อย ร้านกาแฟไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การที่เราจะต้องดูแลให้มันไปได้ตามประสาของมัน นั่นแหละที่ยาก เราไม่ได้เดินสายธุรกิจ เวลาทำก็เลยทำแบบเกินเลย คือ อยากให้ตรงนี้เป็นห้องนั่งเล่น ห้องฟังเพลง ห้องแสดงผลงาน ต้องการให้เขารู้สึกว่า มีสถานที่ที่เขาอยากโชว์อยากแสดงออกอะไรก็ได้แค่นั้นเอง แค่ต้นพลาดตรงที่โลเคชั่นไม่อำนวย"
 
           หนุ่มนักดนตรี ยังเล่าถึงการทำร้านกาแฟอีกว่า ยังมีเรื่องจุกจิกอีกหลายอย่าง โดยเขายอมรับว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของการบริหารงาน ที่เขาอาจไม่ค่อยถนัดนัก นอกจากนี้ เขายังมีงานอดิเรกใหม่ ที่กำลังคิดจะทำอย่างจริงจัง นั่นคือ การถ่ายภาพ ที่ตอนนี้มีผลงานของเขาประดับอยู่บนข้างฝาร้าน ซึ่งเจ้าตัวมองว่า งานประเภทโฟโต้กราฟิกอาร์ต ที่มีการนำตัวตนใส่เข้าไปในงาน เพื่อสื่อถึงมุมมองและอารมณ์นั้น เป็นสิ่งที่ท้าทาย
 
           "เคยเห็นรูปภาพที่เขาพริ้นท์วางขายกัน แล้วคิดว่า ตัวเองก็ทำได้ ก็เลยไปคุยกับเพื่อนที่เป็นจิตรกร พาเขามาดูรูป เขาก็ถาม ไปเอามาจากไหนสวยดี ก็บอกไปว่าถ่ายเอง เขาก็ไม่เชื่อ เพราะเขาไม่รู้มาก่อนว่าผมชอบถ่ายรูป เขาเลยเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่อยากให้ผมทำอะไรกับมันตรงนี้"
 
           แม้จะต้องรับผิดชอบงานหลายอย่าง แต่ ธีร์ ก็ยืนยันว่า ตอนนี้เขามีความสุขกับทุกอย่างที่ทำ เพราะถ้าไม่มีความสุขก็ไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะอายุก็มากขึ้นแล้ว อย่างงานประจำที่ทำอยู่ แม้จะเป็นงานที่เครียดติดอันดับโลกทุก ๆ ปี แต่ทั้งหมดก็ถือว่าอยู่ในจุดสูงสุดของมันแล้ว จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เขาจะหาวิธีการบริหารเวลาอย่างไร
 
           ส่วนในเรี่องอื่น ๆ นั้น แม้คนจำนวนมากจะมองว่า เขาเป็นนักร้องเสียงนุ่ม มาดนิ่ง แต่ที่จริงแล้ว ธีร์ ไชยเดช เป็นคนมีอารมณ์ขันมากคนหนึ่ง
 
           ผมเป็นคนเฮฮาเวลาอยู่ในหมู่เพื่อน ๆ คือในกลุ่มมีแต่คนแสบ ๆ เคยมีครั้งหนึ่ง เฮียชื่ออะไรสักอย่างจำได้ไม่ละเอียด แกหิ้วเกาลัดมา 2 กล่อง ฝากพวกเรากล่องหนึ่งอีกกล่องแกจะเอาไปให้อีกที่ ปรากฏว่าพอแกไปถึงที่นั่น เปิดกล่องมาเจอก้อนหินเต็มไปหมด คือเราเอาหินไปสลับ (หัวเราะ) จะแกล้งอะไรกันอย่างนี้"
 
           และถึงจะดูเป็นคนใจดี แต่บางครั้งเขาก็ดุเป็นเหมือนกัน โดยเฉพาะตอนที่ทนไม่ไหวจริง ๆ  แต่ทุกอย่างก็ต้องทำอย่างมีเหตุผล และผ่านการคิดให้รอบคอบแล้ว "ผมค่อนข้างใจดีและให้โอกาสคนและบางครั้งถึงเวลาแรงก็เอาเรื่อง แต่นั่นหมายความว่าต้องไตร่ตรองมาแล้ว เช่น บางครั้งไปยืนต่อแถวเห็นคนมาเดินแซงก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่บางอารมณ์ไม่รู้มันมาจากไหนเหมือนกัน เคยถือคนในฟู้ดแลนด์ตอนที่เขาเหยียบเท้าแม่ผมแล้วไม่ขอโทษ นี่คือเหตุผล คือ ทำเพราะบางครั้งมันจำเป็น"

 
           เรื่องราวที่ผ่านการบอกเล่าจาก ธีร์ ไชยเดช ในครั้งนี้ คงทำให้เราได้เห็นตัวตนของเขาชัดเจนมากขึ้น ถึงแม้เส้นทางการเป็นศิลปินของเขาจะไม่หวือหวาเท่าใดนัก เช่นเดียวกับชีวิตการทำงานประจำ รวมถึงธุรกิจที่ดูแลอยู่ แต่ตอนนี้เขาก็มีความสุขในแบบของเขา และเขาก็ยังพร้อมที่จะเดินหน้าเพื่อทำในสิ่งที่เขารักต่อไป
 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นิตยสาร ฅ.คน ปีที่ 8 ฉบับที่ 7 (90) พฤษภาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธีร์ ไชยเดช กับเส้นทางชีวิตที่เรียบง่าย แต่สุขใจ อัปเดตล่าสุด 13 สิงหาคม 2556 เวลา 11:07:32 31,025 อ่าน
TOP