x close

เสน่ห์หลังไมค์ แรงบันดาลใจ ของ ดีเจพี่อ้อย นภาพร

 






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Youtube.com โพสต์โดย LadyBimbettes

         "ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากความอยากทำ พอมันมีโอกาส เมื่อไมโครโฟนเป็นของเรา เราก็ทำมันเต็มที่ พี่รักงานวิทยุมากขึ้นทุกวัน และที่พี่ต้องทำสุดหัวใจ เพราะเราคิดว่า ไมโครโฟนมันไม่ได้อยู่กับเราตลอดชีวิตนะ" ดีเจเสียงอบอุ่นแห่งคลื่นกรีนเวฟ (GreenWave) 106.5 FM "พี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล" บอกถึงแรงบันดาลใจในการทำงานผ่านรายการ The Idol คนบันดาลใจ

         ทุกวันนี้ หลายคนรู้จัก ดีเจพี่อ้อย นภาพร ในฐานะกูรูด้านความรัก เพราะงานของเธอในรายการ คลับฟรายเดย์ (Club Friday) ไม่ต่างจากการทำหน้าที่ศิราณี ที่คอยให้คำปรึกษาผู้ที่มีปัญหาความรัก รวมทั้งให้มุมมองดี ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ฟังประคับประคองชีวิตรัก และสารพันปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้

         ชีวิตและแรงบันดาลใจในการทำงานของพี่อ้อย เริ่มต้นมาตั้งแต่เรียนอยู่ประมาณชั้น ม.1, ม.2 ที่พี่อ้อย เริ่มรู้ตัวว่า โตขึ้นเธออยากเป็นดีเจ อยากจัดรายการวิทยุ เพราะจะได้ฟังเพลงที่เธอชอบบ่อย ๆ ซึ่งตอนนั้นก็คิดเพียงแค่นั้น เพราะต้องยอมรับว่า ฐานะทางบ้านเธอค่อนข้างลำบาก เธอต้องเรียนไปด้วย ช่วยแม่เข็นรถเข็นไปขายส้มตำด้วย แต่ถึงกระนั้น ผู้หญิงที่มองโลกในแง่ดีคนนี้ ก็ไม่ได้รู้สึกว่า นั่นเป็นชีวิตที่ลำบาก








         "ตอนนั้นแนวคิดของครอบครัวมักจะสอนเราอยู่เสมอว่า อะไรก็ตามที่เราไม่ได้มา เป็นเพราะเราไม่เหมาะกับสิ่งนั้น ให้มองทุกอย่างที่ตัวเองก่อน เราก็เลยเป็นคนที่ชีวิตตัวเองลำบากแบบที่ไม่ค่อยรู้สึกว่าลำบาก" พี่อ้อย เล่าถึงชีวิตวัยเด็ก

         เพราะฐานะทางบ้านไม่สู้ดี ทำให้พี่อ้อยต้องเลือกสอบเข้าโรงเรียนที่มีค่าเทอมไม่สูงนัก ซึ่งเธอก็สามารถพากเพียรจนสอบเข้าโรงเรียนศึกษานารีได้ เมื่อศึกษาถึงชั้น ม.5 พี่อ้อย ก็สามารถสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัย ในคณะนิเทศศาสตร์ เอกวิทยุ-โทรทัศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสาขาที่ตรงกับความปรารถนาในวัยเยาว์ของเธอได้ดั่งฝัน

         "ตอนสอบเข้าได้มันเหมือนกับเป็นความฝัน พอเรามาเรียนในสิ่งที่เราฝัน เราก็รู้สึกชอบมันจริง ๆ แต่มันแปลกมากว่า พอได้ออกมาทำงานจริง ๆ เรากลับรู้สึกรักงานนี้มากกว่าตอนเรียนอีก เพราะรายการวิทยุมันมีเสน่ห์มาก มันมีโจทย์อยู่ว่า เพลงที่เราเปิดก็เหมือนกับที่คลื่นอื่นก็เปิด ทีนี้เราจะทำยังไงให้คนฟังเพลงนี้จากคลื่นเรา นี่คือสิ่งที่สนุกมากว่าจะทำยังไง"





         พี่อ้อย เล่าว่า งานแรกของเธอคือเป็นดีเจคลื่นแซด 88.5 FM ซึ่งทำทั้งอัดรายการสปอตวิทยุ งานโฆษณา เขียนเอง ตัดต่อเอง ทุกอย่าง และถือเป็นความโชคดีที่ทำให้พี่อ้อยได้เรียนรู้ทุกขั้นตอน ทำให้เธอตอบตัวเองได้ว่าเราชอบอะไร หลังจากทำงานไปได้ 1 ปี เธอก็ลาออก และมีโอกาสได้มาทำงานที่ เอ-ไทม์ มีเดีย (A-time media) กับ พี่ฉอด สายทิพย์ เริ่มต้นจากการทำเดโมไปเดือนกว่า จากนั้นพี่ฉอดก็ได้ให้เธอเข้าไปนั่งดูคนอื่นจัดรายการวิทยุทุกวัน ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ยัน 5 โมงเย็น เป็นเวลาครึ่งเดือน กว่าจะได้มาเป็นดีเจจัดรายการครั้งแรกที่ฮอตเวฟ (HotWave) 91.5 FM ช่วงเวลา ตี 1 ถึง ตี 3

         พี่อ้อย บอกว่า หลังจากได้มาเป็นดีเจ ทำให้เธอรู้เลยว่า การที่พี่ฉอดให้เข้ามานั่งดูคนอื่นจัดรายการทั้งวันมันเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะได้รู้ว่าคนฟังแต่ละคนไม่เหมือนกัน จากนั้น เธอก็มักจะได้จัดรายการแทนดีเจคนอื่นที่ติดงานข้างนอก บางครั้งถึงกับน็อกรอบ ต้องหาเก้าอี้มาต่อกัน 2 ตัว เพื่อนอนในสถานีรอเวลาลุกขึ้นมาจัดรายการในชั่วโมงหน้า ซึ่งเป็นอะไรที่โหดมาก แต่เธอกลับสนุกที่ได้ทำงานนี้

         กระทั่งจัดรายการที่ฮอตเวฟ ไปได้ครึ่งปี พี่อ้อย ก็ได้เปลี่ยนมาจัดรายการช่วงไพร์มไทม์ คือ 8 โมง - 10 โมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่มีคนฟังมากที่สุด โอกาสที่พี่อ้อยได้รับครั้งนั้น ทำให้เธอตกใจอยู่ไม่น้อย แต่เธอก็ทำหน้าที่จัดรายการวิทยุมาโดยตลอด โดยมีงานทั้งที่คลื่นฮอตเวฟ และกรีนเวฟ ก่อนจะมาเลือกทำที่กรีนเวฟคลื่นเดียวจนถึงทุกวันนี้

         "ต้องบอกว่าตั้งแต่จัดรายการวิทยุมาจนถึงวันนี้ 20 ปี การจัดรายการที่กรีนเวฟ ทำให้เรารู้สึกประสบความสำเร็จในงานมากที่สุดกว่าทุกคลื่นที่เคยจัด คำว่า พีค ไม่ได้หมายถึงชื่อเสียง แต่หมายถึงความสบายตัว ความรู้สึกสนุกกับมันทุกวัน และก็เติบโตมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีคลับฟรายเดย์ ซึ่งบางคนรู้จักคลับฟรายเดย์มากกว่ากรีนเวฟก็มี"





         ในมุมมองของพี่อ้อยมองว่า คลับฟรายเดย์คือพื้นที่หนึ่งที่เปิดรับฟังความรู้สึก รับฟังความอ่อนแอของเรา แม้บางคนจะมีเบอร์โทรศัพท์ที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือเป็นพันเบอร์ แต่กลับไม่มีที่รับฟังเวลาเราเกิดปัญหา ไม่รู้ว่าเวลาเกิดปัญหาจะโทรหาใคร คลับฟรายเดย์จึงเป็นพื้นที่ที่เปิดรับฟังปัญหา ซึ่งก็มีทั้งปัญหาเล็ก ๆ อย่างเรื่องวัยรุ่นเป็นสิว ไปจนถึงปัญหาใหญ่ ๆ แต่เธอก็มองว่า ไม่มีเรื่องไหนไร้สาระ ถ้าเรื่องนั้นมันทำร้ายความรู้สึกของเราได้

         "ไม่รู้พี่เป็นโรคจิตหรือเปล่านะ (หัวเราะ) หรือพี่ชอบฟังเรื่องชาวบ้าน เพราะมันรู้สึกว่า บางทีเรื่องชาวบ้านก็เป็นทางออกให้กับตัวเองได้ เหมือนคนอกหักเก็บตัวอยู่ในห้อง พี่จะบอกให้เขาออกจากห้องไปดูชีวิตคนอื่น เราอาจจะได้มุมคิดว่า ทำไมคนนั้นที่แย่กว่าเรา แต่เขายังยิ้มได้มากกว่าเราอีก เราโดนมาแค่นี้จะมานั่งจมกองทุกข์อยู่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการฟังเรื่องของคนอื่น มันจะทำให้เราได้แนวคิดของตัวเราเอง"

         เมื่อถามถึงเรื่องเป้าหมายในอนาคต พี่อ้อย บอกว่า เธอยังไม่รู้เลยว่า ตายแล้วจะไปไหน เพราะฉะนั้นก็ไม่รู้เช่นกันว่า ถ้าเลิกจัดรายการวิทยุแล้วจะไปไหนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เธอจึงต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด ถ้าในความสามารถเท่าที่พอจะมี ช่วยทำประโยชน์ให้งานไหนได้ วันนั้นก็ค่อยว่ากัน 

         "พี่อ้อยพูดเสมอว่าพี่เป็นผู้หญิงต้นทุนต่ำ แต่มาวันนี้มันถึงจุดคุ้มทุนแล้ว จากทุนที่มีมาเท่าไหร่เอง วันนี้ พี่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก และมีคนจ้างให้ทำงานที่ตัวเองรักด้วย มันผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้ว ต่อจากนี้ไปคือกำไรทั้งหมด และสิ่งที่พี่จะขอบคุณทุกสิ่ง คือการที่ได้ทำอะไรตอบกลับไปยังคนฟัง ตอบกลับไปยังสังคม ถ้าพี่สามารถเป็นกำลังใจให้ใครได้ พี่ก็จะทำ"

         ผู้หญิงอบอุ่นที่เปิดเพลงรักซึ้ง ๆ และใช้คำพูดที่แฝงด้วยการให้กำลังใจคนนี้ ยังคงถือคติในการทำงานทุก ๆ วัน ว่า หน้าที่ของเธอไม่ใช่แค่การเปิดเพลงไปเรื่อย ๆ แต่ต้องให้ผู้ฟังได้อะไรจากการฟังวิทยุในวันนั้นด้วย ซึ่งเธอก็ดีใจที่งานของเธอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สายที่โทรเข้ามารู้สึกดีขึ้น

         "ชีวิตคนเราชอบบอกว่า ถ้ารู้แบบนี้นะ... คือเราไม่มีโอกาสได้รู้ค่ะ ปัจจุบันเท่านั้นที่มันอยู่ในมือ จะเรื่องงาน เรื่องความรัก การใช้ชีวิต วันนี้วันเดียว เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่า ถ้าเป็นวันนี้ต้องเต็มที่ทุกสิ่ง..." คำพูดทิ้งท้ายสั้น ๆ ของ ดีเจพี่อ้อย ศิราณี คนหลังไมค์ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยแง่คิดที่ยืนยันว่า "วันนี้" คือวันที่ดีที่สุดสำหรับวันต่อไป





เสน่ห์หลังไมค์ แรงบันดาลใจ ของ ดีเจ พี่อ้อย นภาพร











เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เสน่ห์หลังไมค์ แรงบันดาลใจ ของ ดีเจพี่อ้อย นภาพร อัปเดตล่าสุด 31 พฤษภาคม 2555 เวลา 17:57:08 1,870 อ่าน
TOP